02:28

จังหวัดเพชรบุรี

" เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม "

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดเพชรบุรี
เพชรบุรี เป็น จังหวัดในภาคกลางที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 123 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยมีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งสมัยสุโขทัยและมีหลักฐานทาง โบราณคดี ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงสมัยขอมและสมัยทวารวดี ทั้งยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงในสมัยอยุธยา
เพชรบุรี มีพื้นที่ 6,255.138 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยกับสหภาพพม่า ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางกลอย และแม่น้ำบางตะบูน ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง
จังหวัดเพชรบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอชะอำ
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศตะวันออก ติดต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า
การเดินทาง
รถยนต์ ทางที่สะดวกและใกล้ที่สุดคือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม ราชบุรี ไปยังเพชรบุรี เป็นระยะทาง 166 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง มีรถประจำทางทั้งปรับอากาศ และรถธรรมดาออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 434-5557-8 (รถธรรมดา) 435-1199-200 (รถปรับอากาศ) หรือรถโดยสารของบริษัทเอกชน ติดต่อที่เพชรบุรีทัวร์ โทร. 435-7408 นอกจากนี้ยังสามารถโดยสารรถประจำทางสายใต้หลายสายที่วิ่งผ่านเพชรบุรี เช่น สายกรุงเทพฯ-ชุมพร สายกรุงเทพฯ-หัวหิน-ปราณบุรี เป็นต้น นอกจากนี้จากตัวเมืองเพชรบุรียังมีรถโดยสารไปหัวหิน ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์และราชบุรี
รถไฟ จากกรุงเทพฯ มีรถไฟไปเพชรบุรีและชะอำทุกวัน รถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 1960 หรือ 223-7010, 223-7020 และออกจากสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวัน รายละเอียดติดต่อ โทร. 411-3102
การเดินทางจากตัวเมืองเพชรบุรีไปอำเภอต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียง
อำเภอท่ายาง 18 กิโลเมตร
อำเภอชะอำ 40 กิโลเมตร
อำเภอบ้านแหลม 12 กิโลเมตร
อำเภอบ้านลาด 8 กิโลเมตร
อำเภอเขาย้อย 23 กิโลเมตร
อำเภอหนองหญ้าปล้อง 34 กิโลเมตร
อำเภอแก่งกระจาน 57 กิโลเมตร
อำเภอหัวหิน 66 กิโลเมตร
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ 58 กิโลเมตร
จังหวัดราชบุรี 54 กิโลเมตร

แผนที่จังหวัดเพชรบุรี

แผนที่ตัวเมืองเพชรบุรี



หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 032)

งานข่าวสารการท่องเที่ยว ททท.

02-694-1222 ต่อ 8
02-282-9773

ททท.ภาคกลางเขต 2 (ชะอำ)

032-471-005-6

ประชาสัมพันธ์จังหวัด

032-428-047 , 032-425-573

ตำรวจท่องเที่ยว

1155

ตำรวจทางหลวง

032-425-005

สภ.อ.เมือง

032-425-500

สภ.ต.หาดเจ้าสำราญ

032-478-300

สภ.อ.แก่งกระจาน

032-459-267

สภ.อ.เขาย้อย

032-562-500

สภ.อ.ชะอำ

032-471-321

สภ.อ.ท่ายาง

032-461-500

สภ.อ.บ้านลาด

032-491-100

สภ.อ.บ้านแหลม

032-481-500

สภ.ต.บางตะบูน

032-489-250

สภ.อ.หนองหญ้าปล้อง

032-494-364

รพ.ค่ายรามราชนิเวศน์

032-428-085 , 032-428-506-9

รพ.ผลกำเนิดศิริ

032-425-075

รพ.พระจอมเกล้า

032-401-251-7

รพ.เพชรรัชต์

032-417-070-9

รพ.เมืองเพชร-ธนบุรี

032-415-191-9

รพ.วัชรเวช

032-425-592

รพ.สหแพทย์

032-427-980 , 032-428-203

รพ.แก่งกระจาน

032-459-258

รพ.เขาย้อย

032-562-200

รพ.ชะอำ

032-471-007

รพ.ท่ายาง

032-461-100

รพ.บ้านลาด

032-491-051

รพ.บ้านแหลม

032-481-145

รพ.หนองหญ้าปล้อง

032-494-353-4


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 เลยจากแยกอำเภอเขาย้อย มาทางตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าโรงเรียนบ้านวัง เข้าไปประมาณ 150 เมตร ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู ในเวียดนามเหนือ มีความรู้ความชำนาญในการทอผ้าและจักสาน นิยมแต่งกายด้วยสีดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ชาวลาวโซ่งส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เป็นที่เก็บรวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชาวลาวโซ่งให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน บ้านจำลอง อักษรดั้งเดิม สาธิตการทอผ้า และขายสินค้าของที่ระลึก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ และทุกวันเสาร์จะมีการฝึกสอนฟ้อนรำ การเป่าแคนแก่ลูกหลาน เปิดให้ชมฟรี ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีงานประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นงานรื่นเริงสังสรรค์ของชาวลาวโซ่ง โดยจะหมุนเวียนกันจัดไปตามหมู่บ้านต่างๆ นอกจากนั้นหากนักท่องเที่ยวมาเป็นหมู่คณะและต้องการจะชมการแสดงประเพณีพื้นบ้าน เช่น พิธีเสนเรือน (เซ่นผีบ้าน) พิธีแต่งงาน การอิ้นคอน การเล่นลูกช่วง เพื่อการหาคู่ของหนุ่มสาว การฟ้อนรำแคน สามารถติดต่อล่วงหน้าโดยเสียค่าใช้จ่าย และหากต้องการจะพักค้างแรมศึกษาวิถีชีวิตของชาวลาวโซ่ง เสียค่าพักแรมคืนละ 200 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กำนันประนอม สืบอ่ำ โทร (032) 499208 โทรสาร (032) 439796
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขา วัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า “เขาสมน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขา แห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้
ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร์ พระที่นั่งสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพัจน์ ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ศาลาด่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบองครักษ์ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมธตรฐป้องปกทางทิศตะวันออก ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรูปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ
กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30-16.15 น. ทุกวัน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)ได้โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ) เสียค่าบริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (032) 425600
วัดพุทธไสยาสน์ ตั้ง อยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา
วัดเขาบันไดอิฐ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 3171 ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง สมเด็จพระเจ้าเสือเคยเสด็จมาฝากตัวเป็นศิษย์ของวัดนี้ ในอดีตวัดเขาบันไดอิฐมีชื่อเสียงมากทางวิทยาคมในช่วงที่หลวงพ่อแดง พระเกจิชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าอาวาส ทำให้มีผู้ให้ความเคารพและเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านความงามของศิลปะปูนปั้นชั้นครูที่ฝากผลงานไว้เหนือหน้าบันพระอุโบสถ นอกจากนั้นบริเวณวัด ยังมีถ้ำให้ชมอีกหลายแห่ง ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ ถัดจากถ้ำนี้เข้าไปทางด้านใต้จะมีถ้ำพระพุทธไสยาสน์ จะมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำทั้งสามนี้แล้ว ยังมีถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ ถ้ำพระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊คซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค (Braunschweig) ประเทศเยอรมัน ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเขาหลวง อยู่ บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมีความสูง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น ถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดในเมืองเพชร ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จประพาสมาและทรงโปรดถ้ำแห่งนี้มาก ทั้งยังทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วย กัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชร ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นที่ประดับอยู่ตามพระอุโบสถวิหารหลวง รวมถึงศาลาภายในวัดล้วนเป็นฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
วัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ ที่ถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า 300 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส
วัดกำแพงแลง ตั้งอยู่ที่ถนนพระทรง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่
หาดเจ้าสำราญ เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญเจริญถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญมีชื่อเสียงกว่าชายทะเลแห่งใด ๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้เรียกว่า พระตำหนักหาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปีพ.ศ. 2461 ต่อมารื้อไปสร้างใหม่ที่บริเวณอำเภอชะอำ เรียกชื่อว่า “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” บริเวณหาดมีที่พักและร้านอาหารบริการด้วย
การเดินทาง อยู่ห่างจากตลาดเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3177 ผ่านสถาบันราชภัฏเพชรบุรีไปประมาณ 13 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสองแถวที่วิ่งระหว่างตัวเมือง-หาดเจ้าสำราญ รถจะจอดบริเวณข้างธนาคารกรุงไทย ถนนวัดท่อใกล้หอนาฬิกา มีบริการตั้งแต่เวลา 07.30-18.15 น.
พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาล เดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็นพระรามราชนิเวศน์ ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล
พระรามราชนิเวศน์ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทร. (032) 428506-10 ต่อ 259


ข้อมูลท่องเที่ยว อ.เขาย้อย : อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

อำเภอเขาย้อย
ถ้ำเขาย้อย ตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย ใกล้ที่ว่าการอำเภอเขาย้อย เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวงและวัดถ้ำเขาบันไดอิฐที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว และต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จธุดงค์มาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน
วัดกุฏิ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม ตามทางหลวงหมายเลข 4 ก่อนถึงทางเข้าที่ว่าการอำเภอเขาย้อย 6 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันโบสถ์ทิศตะวันออก แกะสลักเป็นเหรียญตรามงกุฎ สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านหลังทางทิศตะวันตก แกะสลักเป็นรูปเหรียญกษาปณ์ ราคา 1 บาท พร้อมตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่งแกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยฝีมือช่างชั้นครู

อำเภอบ้านแหลม
แหลมหลวง หรือ แหลมผักเบี้ย อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นหาดทรายมีปลายแหลมยื่นยาวออกไปในทะเลถึง 2 กิโลเมตร สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก นักท่องเที่ยวสามารถจะนั่งเรือหางยาวไปที่ปลายแหลม ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ค่าเช่าเรือ 500 บาท นั่งได้ 10-15 คน โดยติดต่อที่ องค์การบริหารส่วนตำบล โทร. (032) 441209 หรือ คุณเสรี มานิตย์ โทร. (032) 441204
วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก จากตัวเมืองเพชรบุรี ข้ามทางรถไฟ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3176 ระยะทาง 10 กิโลเมตร จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติว่า หลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่า ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง จนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลมปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
บางขุนไทร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 3178 เป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพจับหอยแครง หอยเสียบ และหอยลาย โดยใช้กระดานถีบเลื่อนไปบนผิวเลนในช่วงน้ำลง และนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะนั่งเรือชมการเก็บหอย หรืออยากจะเก็บหอยด้วยตนเอง ด้วยวิธีนั่งแพ (แพ 1 ลำ นั่งได้ 3 คนและการจะออกไปเก็บหอย ต้องดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลง) สามารถติดต่อได้ที่ กำนันเสน่ห์ บูรณารมย์ โทร. (032) 481245 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล บางขุนไทร โทร. (032) 501254

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.ท่ายาง : อ.แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

อำเภอท่ายาง
หาดปึกเตียน อยู่ ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยก คลองชลประทานสาย 2 ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียนเป็นหาดทรายขาว สะอาด สามารถเล่นน้ำได้ และมีรูปปั้นพระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร สุดสาครและม้ามังกร ศาลเจ้าแม่กวนอิมและเกาะเต่า นอกจากนั้นยังมีที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก

อำเภอแก่งกระจาน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบชื้น ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานฯ คือยอดเขางะงันนิกยวงตอง อยู่ในเขตรอยต่อประเทศพม่าและไทย มีความสูง 1,513 เมตร รองลงมาคือยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งมีความสูง 1,207 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
ทะเลสาบ มี เนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร มีเกาะกลางแม่น้ำอยู่มากมายหลายเกาะ นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะล่องเรือชมทิวทัศน์เพื่อพักผ่อนหรือตกปลาน้ำจืดใน ทะเลสาบ ก็สามารถเช่าเรือได้ที่ร้านอาหารหรือชมรมเรือที่อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ
เขาพะเนินทุ่ง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯในเขตประเทศไทยอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 50 กิโลเมตรเป็นภูเขาสูง มีบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในระดับความสูง 960 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณโดยรอบเป็นป่าดิบเขา มีสัตว์ป่าชุกชุม มีทิวทัศน์งดงาม จากยอดเขาสามารถเห็นทะเลหมอกในช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาว การเดินทางต้องใช้เวลา 2 วัน พักค้างแรม 1 คืนระหว่างทาง และติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง อาหารและเต็นท์สำหรับพักค้างแรมไปเอง
พะเนินทุ่งแคมป์ หรือ กม. 30 เป็น จุดชมวิวที่สามารถชมทะเลหมอกในตอนเช้าได้สวยจุดหนึ่ง และสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ การเดินทางต้องใช้รถที่มีกำลังสูง สามารถเหมารถปิกอัพได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ อุทยานฯ จึงได้กำหนดเวลาในการขึ้น-ลง คือ เวลาขึ้นช่วงเช้า 05.00-09.30 น. ช่วงบ่าย เวลา 14.30-15.00 น. เวลาลง ช่วงเช้า 12.00-13.00 น. ช่วงบ่าย 16.30-18.00 น. สำหรับผู้ที่ต้องการจะขึ้นเขาพะเนินทุ่งต้องติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่อง เที่ยวเพื่อขอใบอนุญาตผ่านทาง โดยเสียค่าธรรมเนียม คือ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท รถยนต์สี่ล้อ 30 บาท รถกระบะ 40 บาท รถตู้ 50 บาท รถยนต์มากกว่าสี่ล้อ 70-80 บาท และผู้ที่ต้องการจะขึ้นเขาพะเนินทุ่ง เวลา 05.00 น. ต้องทำใบขออนุญาตล่วงหน้า 1 วัน
น้ำตกทอทิพย์ อยู่ ห่างจากเขาพะเนินทุ่ง 15 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์ และเดินทางเท้าเข้าถึงตัวน้ำตกประมาณ 4 กิโลเมตร มีความสูง 9 ชั้น ชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่สวยที่สุด แต่ละชั้นสวยงามแปลกตา สภาพโดยรอบเป็นป่าไม้ร่มรื่น ทั้งนี้การเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า ควรขอคำแนะนำและคนนำทางจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อน นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้ต้องมีกำลังเครื่องดีเพราะเส้นทางผ่านหุบเขาลาดชัน
สำหรับเส้นทางดูนก – ผีเสื้อ จะเริ่มจากที่กิโลเมตรศูนย์คือ บริเวณด่านตรวจเขาสามยอดถึงกิโลเมตรที่ 18 จะพบผีเสื้อได้ตามสองข้างทางตามโป่งดินกิโลเมตรที่ 10 –12 และจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถดูนกได้คือ บริเวณตั้งแต่อ่างเก็บน้ำห้วยสามยอด เลยด่านตรวจมาไม่ไกล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด ส่วนเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้นนับตั้งแต่กิโลเมตรที่ 18 ขึ้นไป และบริเวณกิโลเมตรที่ 18-27 อาจจะพบเห็นนกกระลิงเขียดหางหนาม ซึ่งเป็นนกที่พบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เดียวในประเทศไทย
แค้มป์บ้านกร่าง เป็นจุดพักค้างแรมกางเต็นท์ สำหรับผู้สนใจดูนกและผีเสื้อเนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย อยู่บริเวณกม.15 มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง มีไม้ที่พบมากคือ ไม้ตะเคียนทอง ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้หอมหรือไม้กฤษณา และเป็นป่าที่ชุ่มชื้นจึงมีเฟิร์น กระโถนฤาษี หนุมาน หวาย ขึ้นอย่างสมบูรณ์และยังมีสัตว์ป่ามากมายเช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง หมีและสัตว์ป่าสงวน เช่น เลียงผา เก้งหม้อ สมเสร็จ และแมวลายหินอ่อน มีผีเสื้อมากกว่า 150 ชนิดให้ศึกษา โดยเฉพาะในหน้าแล้งจะเห็นฝูงผีเสื้อลงไปกินดินโป่งเป็นจำนวนมาก และราวเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน จะพบนกได้หลายชนิดสร้างรังวางไข่เลี้ยงลูกอ่อน เช่น นกกก นกกาฮัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของป่าดงดิบ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว และมีสถานที่กางเต็นท์บริเวณอ่างเก็บน้ำ บริเวณเขาพะเนินทุ่ง และบริเวณแค้มป์บ้านกร่าง อุทยานฯ มีเต็นท์ให้เช่าราคาหลังละ 100 บาท/คืน ค่าธรรมเนียมในการใช้สถานที่กางเต็นท์ 30 บาท/คืน สามารถติดต่อจองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแก่งกระจาน โทร. (032) 459293
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถึงอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านแยกเข้าตัวเมืองเพชรบุรี จะถึงสี่แยกท่ายาง เลี้ยวขวาเข้าอำเภอท่ายาง จากนั้นวิ่งไปตามถนนเลียบคลองชลประทาน ตามทางหลวงหมายเลข 3499 ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอแก่งกระจาน จากปากทางเข้าอุทยานฯ อีก 4 กิโลเมตรจะถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง จะมีรถสายกรุงเทพฯ-ท่ายาง ลงที่ตลาดท่ายาง จากนั้นต่อรถสองแถวไปตลาดแก่งกระจาน และต่อรถรับจ้างหรือจักรยานยนต์ไปอีก 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร สูง 58 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2509 เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 53 กิโลเมตร และห่างจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน


ข้อมูลท่องเที่ยว อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
หุบกะพง อยู่ก่อนถึงชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทาง 3203 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 201-202 จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลาดยาง เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง อยู่ในตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ โครงการนี้เริ่มปี พ.ศ.2507 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน จึงได้ให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมแห่งชาติ จัดหาที่ดินในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน และได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอิสราเอล ในการส่งผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชนบทสาขาต่าง ๆ ภายใต้ชื่อโครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบทหุบกะพง โครงการนี้เริ่มเมื่อ 19 สิงหาคม 2509 -18 สิงหาคม 2514 คณะกรรมการได้เลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง และทำการสำรวจวิเคราะห์ดิน แบ่งที่ดินให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก จัดระบบชลประทาน ศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร ปรับปรุงและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชผลต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด แนะนำให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชตามหลักวิชาการ และจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และทำหัตถกรรมเครื่องจักสานจากป่านศรนารายณ์และหญ้าแฝก นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลิตผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์และหญ้าแฝก เช่น กระเป๋า หมวก รองเท้า ตะกร้า ผลไม้อบแห้ง ได้ที่ ศูนย์ศิลปาชีพป่านศรนารายณ์หุบกะพง เปิดให้ชมและเลือกซื้อทุกวันเว้นวันอังคาร เวลา 8.30-16.30 น. นอกจากนั้นในโครงการฯ ยังมีห้องประชุมสัมมนา บ้านพักบริการสำหรับผู้ที่ต้องการจะจัดประชุมสัมมนา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 471000, 471543
หาดชะอำ อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน
การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนการรถไฟพิเศษนำเที่ยวกรุงเทพฯ-ชะอำ ทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 225-6964
ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย ห่างจากอำเภอชะอำ 14 กิโลเมตร อยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 220 เลี้ยวขวาไปทางเดียวกับวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี เข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด ภายในศูนย์ฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ และมีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เม่น หมีขอ ละอง ละมั่ง กวาง เนื้อทราย นกยูง นกชาปีไหน ไก่ฟ้าหลังขาว เป็นต้น เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา
8.00-16.30 น.
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2466 ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ลักษณะเป็นพระตำหนักแบบไทยผสมยุโรป เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทอง พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสมุทรพิมานเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารข้าราชบริพารฝ่ายหน้าเป็นบริวารหลายหลัง และมีแนวระเบียงยื่นลงสู่ทะเลเป็นที่ลงสรงน้ำ และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่าง ๆ และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทรในปี พ.ศ.2484 เจ้าพระยารามราฆพ ได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ประดิษฐานไว้ ณ ท้องพระโรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และได้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ตั้งแต่
เวลา 08.00–17.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 90 บาท รับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โทร. (032) 508033, 508026, 508208


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาป น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม ทั้งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,875 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ติดต่อกันเป็นอาณาเขตกว้าง ยอดสูงสุดประมาณ 1,200 เมตร โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีความชื้นสูง ส่วนใหญ่จะมีฝนตกชุก จึงมีอากาศเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนอบอ้าว
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น คือ มีประมาณ 80% ของพื้นที่ และอีก 20% เป็น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ทั้งยังมีลักษณะเด่นในบางพื้นที่เป็นป่าเต็งรังผสมกับไม้สนซึ่งเป็นสนสองใบ ตามธรรมชาติ มีพรรณไม้มีค่าทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ตะเคียนทอง ประดู่ มะค่า กฤษณา ฯลฯ มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง
สัตว์ป่ามีอยู่อย่างหนาแน่น ชุกชุมด้วยสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า โดยเฉพาะช้างที่เคยจับได้เป็นช้างเผือก ซึ่งราษฎรชาวจังหวัดเพชรบุรีได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปแล้วถึง 4 เชือก นอกจากนั้นสัตว์อื่นๆ ก็ยังมีอยู่หลายชนิด เช่น กระทิง เก้ง เสือ กวาง ค่าง ลิง ชะนี หมี และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน นกชนิดต่าง ๆ และจระเข้น้ำจืดหรือจระเข้ตีนเป็ดในหนองน้ำลำห้วยต้นแม่น้ำเพชรบุรี
แหล่งท่องเที่ยว
ทะเลสาปอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เนื้อที่ ประมาณ 46.5 ตารางกิโลเมตร (26,325 ไร่) เกิดจากการสร้างเขื่อนดินปิด 3 ช่องทางระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมแก่งน้ำเดิม เป็นพื้นน้ำอาณาเขตกว้างขวางจากยอดเขาเนินเขาหลากเป็นเกาะโผล่พ้นน้ำถึง 30-40 เกาะ ก่อให้เกิดทิวทัศน์งดงามยิ่งเหมาะสำหรับการนั่งเรือชมทัศนียภาพและชมพระ อาทิตย์ตกยามเย็นที่สันเขาตะนาวศรี
เขาพะเนินทุ่งเป็น เขาที่สูงประมาณ1,207 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ห่างจากที่ ทำการอุทยานแห่งชาติ 50 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์และทางเดินเท้า ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่งดงามทั้งยามปกติ และยามมีทะเลหมอกในช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูฝนหนาวที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง แต่การเดินทางค่อนข้างลำบาก เมื่อสุดทางจะต้องใช้เวลาเดินเท้าอีกประมาณ 5-8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
น้ำตกทอทิพย์ อยู่ห่างจากยอดเขาพะเนินทุ่งประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจะเดินทางไปชมโดยทางรถยนต์ ตัวน้ำตกมีถึง 18 ชั้น นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่อันเป็นพื้นต้นน้ำมีลำธารที่งดงาม ของแม่น้ำเพชรบุรี และในบริเวณส่วนนี้ยังประกอบด้วยจุดที่น่าสนใจอีกหลายอย่างทั้งน้ำตกอื่น ๆ เช่น น้ำตกปราณบุรี (น้ำตกธารทิพย์หรือน้ำตก 5 ชั้น) น้ำตกแม่เสลียง น้ำพุร้อน เป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งในความงามของธรรมชาติของป่าดิบชื้นอันประกอบด้วย ดงไม้งามสูงใหญ่เป็นมนต์ขลังของป่าใหญ่
ถ้ำต่าง ๆ อยู่ตรงบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด และบริเวณถ้ำวิมาน มีหินงอก หินย้อย ซึ่งธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง ภายในถ้ำยังมีหลักฐานและร่องรอยของมนุษย์โบราณ
ผาน้ำหยด
สามารถชมได้จากริมชายฝั่งลำน้ำเพชรบุรี หากมีการท่องเที่ยวโดยการล่องแก่ง แม่น้ำเพชรบุรี มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลหยดลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝน น้ำจะหยดเป็นสาย ก่อให้เกิดแผงมอสคลุมเขียวไปทั้งหน้าผา
น้ำตกหัวป่าเงาอยู่ทางด้านใต้ของพื้นที่มีน้ำตกใหญ่น้อยมากมาย รวมเป็นกลุ่มได้ถึง 4 กลุ่ม มีเส้นทางเข้าถึงสะดวก อยู่ในท้องที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตติดต่อกับโครงการพระราชดำริห้วยสัตว์ใหญ่
น้ำตกธารทิพย์
มีความสูง 7 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกหินลาด
น้ำตกหินลาด มีความสูง 5 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีอยู่ใกล้กับน้ำตกทอทิพย์และน้ำตกธารทิพย์
น้ำตกปรานบุรี มีความสูง 3 ชั้น อยู่ใกล้กับเส้นทางสายวังวน-น้ำตกทอทิพย์ (บริเวณ กม. 23) มีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกแม่สะเลียง หรือ เสลียง มีความสูง 3 ชั้น น้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 34 กม. ถึงทางแยกตรง กม. 27 แล้วเดินทางไปทางทิศตะวันตกอีก 5 กม. เหมาะแก่การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งและเดินป่า
ลานหนุมานหรือเขาประการัง ลักษณะของภูเขาเป็นหินที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตาคล้ายประการัง บริเวณนี้มีลิง ค่างและชะนี เป็นจำนวนมาก และยังเป็นสถานที่ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
น้ำตกป่าละอู อยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความสูง 16 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี ปัจจุบันได้พัฒนาบ้างแล้ว ประชาชนนิยมไปท่องเที่ยวกันมาก
น้ำตกห้วยป่าเลา มีทั้งหมด 7 ชั้น อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกป่าละอู อยู่ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บ้านพักและสิ่งอำนวยสะดว
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีบ้านพักลานกางเต้นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว

การเดินทาง
รถยนต์ ไป ตามเส้นทางเพชรเกษมมุ่งลงใต้ผ่านอำเภอท่ายาง ถึงสี่แยกเขื่อนเพชร ระยะทางราว 20 กิโลเมตร แยกขวาเข้าไปตามเส้นทางไปเขื่อนเพชร ตามทางลาดยางลึกเข้าไปอีกประมาณ 38 กิโลเมตร ผ่านบ้านช่อง ผ่านเข้าสู่บริเวณเขตเขื่อนดินแก่งกระจานเลียบตามถนนลาดยางขอบอ่าง จากตัวเขื่อนอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170 โทรศัพท์ : (0) 3245 9291


วนอุทยานเขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี
วนอุทยานเขานางพันธุรัต อยู่ในท้องที่ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2542
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูนมีลักษณะทางภูมิทัศน์เป็นปฏิมากรรมทางธรรมชาติ มีลักษณะสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ มีโกศอยู่ทางทิศใต้ เทือกเขาที่สำคัญประกอบด้วยเขาเจ้าลายใหญ่และเขาจอมประสาท พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 60-372 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน จะมีฝนตกเป็นระยะสั้นๆ ฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นและฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อน
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
ป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำมีหินปูนโผล่ทั่วไป ต้นไม้แคระแกร็นและมีขนาดโตไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ไผ่รวก ประดู่ อ้อยช้าง ยมหิน มะเกลือ ผักหวาน กระบองเพชร เป็นต้น
ป่าดิบแล้ง พบบริเวณหุบเขาและลำห้วย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ข่อยหนาม ไทร ดำดง ไผ่ป่า ขันทองพยาบาท สะเดา ซิก ดีหมี เป็นต้น
สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา อีเห็น กระต่ายป่า ค้างคาว สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานเขานางพันธุรัต ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากมีความประสงค์จะไปพักแรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาต ใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานเขานางพันธุรัตโดยตรง
แหล่งท่องเที่ยว
เนื่องจากพื้นที่เป็นเทือกเขาหินปูนมีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะมองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ ในแต่ละจุดของพื้นที่มีความสวยงามตามธรรมชาติของหินปูนแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ถ้ำมะซาง ถ้ำมะยม ถ้ำแจง สระเจ้าเงาะ ยอดเมรุนางพันธุรัต หุบวังเรือ
การเดินทาง
รถยนต์ จากที่ว่าการอำเภอชะอำ สามารถเดินทางเข้าสู่วนอุทยานเขานางพันธุรัตได้ 2 เส้นทาง คือ
1. เส้นทางถนนเพชรเกษม ผ่านวัดนิคมวชิรวาราม ผ่านถนนสายนิคม (เขื่อนเพชร)-บ้านหนองตาพด ถึงสู่วนอุทยานเขานางพันธุรัตระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
2. เส้นทางถนนสายเลียบทะเลชะอำ-หาดเจ้าสำราญ ผ่านสะพานคลองขุดของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผ่านถนนวัดหนองตาพดเชื่อมถนนสายนิคม (เขื่อนเพชร)-บ้านหนองตาพด ถึงสู่วนอุทยานเขานางพันธุรัตระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานเขานางพันธุรัต สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (เพชรบุรี) ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี


วนอุทยานชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
วนอุทยานชะอำ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอนมะทราง มีเนื้อที่ประมาณ 416 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบและมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่มีต้นสนที่ปลูกเป็นสวนป่า และไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ มีค่าหายาก ไม้พะยอมและของป่าบางชนิด ไม้พื้นล่างมีความสำคัญขึ้นอยู่ทั่วไป ได้แก่พืชตระกูลกระบองเพชรและต้นเสมา สภาพภูมิประเทศเป็นป่าผืนเดียวที่ใกล้เขตเมืองและมีความเจริญทางด้านวัตถุจะล้อมป่าแห่งนี้ ในอนาคตป่าแห่งนี้จะมีความสำคัญเป็นปอดของเมืองที่กำลังเติบโต มีถนนเพชรเกษมและทางรถไฟขนาบทั้ง 2 ด้าน มีคลองน้ำไหล มีสัตว์ป่าหลายชนิดทั้งกระรอก นกหลายชนิด อยู่อาศัยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10 เมตร
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งปลูกป่าและป่าต้นไม้ที่มีอยู่เดิมขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณไม้มีค่าหายาก มีลำธารน้ำไหลผ่าน พรรณไม้ที่สำคัญ เช่น สนทะเล สนประดิพัทธ์ พะยอม และมีของป่ากับทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย สัตว์ป่า มีนกชนิดต่าง ๆ ตะกวด งู อีเห็น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในท้องที่อำเภอชะอำ
บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานชะอำ ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรมและพักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต็นท์ไปกางเองทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเอง
แหล่งท่องเที่ยว
มีทิวทัศน์สวยงาม มีลำธารและแหล่งน้ำใช้ได้ตลอดปี พันธุ์ไม้หลายชนิด ทั้งป่าปลูกและต้นไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลกระบองเพชร ซึ่งนับวันจะหายากแต่ขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าแห่งนี้ ควรจะอนุรักษ์ไว้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนก กระรอก แย้ อีเห็น สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับเขตเมือง มีทางคมนาคมสะดวกและใช้ได้ทุกฤดูกาลต่อไปจะเป็นปอดเมืองชะอำ เหมาะสมเป็นที่ศึกษาธรรมชาติวิทยาและพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง
การเดินทาง
รถยนต์ ติดถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนสายหลักไปสู่ภาคใต้อยู่ห่างจากอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพียง 1 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายทะเลอำเภอชะอำ 1.2 กิโลเมตร

สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานชะอำ ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 76000

ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว จังหวัดเพชรบุรี
การล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรี เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่รักการล่องแก่งที่ตื่นเต้นและผจญภัย เพราะมีแก่งหลายแก่งที่จะสร้างความสนุกสนานและตื่นเต้นให้กับนักล่องแก่ง โดยวัดระดับความยากประมาณ 3 - 5 ตลอดเส้นทางของการล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรี ประมาณ 33 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน และต้องพักแรมในป่า
เส้นทางล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรี จะเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่ เค.ยู.แคมป์ถึงบริเวณที่ทำการอุทยานฯ โดยจะผ่านแก่งต่าง ๆ เช่น แก่งขุนกระเวน ซึ่งเป็นแก่งที่ยากลำบากและท้าทายสำหรับนักล่องแก่งทีเดียว แต่ถ้าหากนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการจะพักค้างแรมก็สามารถจะล่องแก่งจากโป่ง ลึก - น้ำเอ่อ ซึ่งใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 5 ชั่วโมง สองข้างทางของเส้นทางล่องแก่งเป็นป่าที่มีความร่มรื่นและสมบูรณ์ จะเห็นดอกไม้ป่าสีสวย นอกจากนั้นระหว่างทางยังสามารถเยี่ยมชมบ้านกะเหรี่ยง เห็นวิถีชีวิตและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง สำหรับการเดินทางที่จะเข้าไปในจุดล่องแก่งบริเวณโป่งลึก ต้องใช้เวลาในการนั่งรถประมาณ 3 ชั่วโมง และรถที่ใช้ต้องเป็นรถที่มีสมรรถนะสูงเพราะเส้นทางเป็นทางดินลูกรังค่อนข้าง ทุรกันดาร สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะล่องแก่งแม่น้ำเพชรสามารถติดต่อได้ที่ฟูจิ ทัวร์ โทร. 918-6067 และระเบียงริมน้ำทัวร์ โทร. (032) 410695
งานพระนครคีรี-เมืองเพชร จัดทุกวันเสาร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวเพชรบุรี และเป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
งานประเพณีไทยทรงดำ ของชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย เป็นประเพณีการทำบุญในงานจะมีการจัดการละเล่น และการทำอาหารแบบดั้งเดิมของชาวไทยทรงดำ มีการแต่งกายด้วยชุดตามประเพณีที่หาดูได้ยาก จัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
งานประเพณีข้าวห่อกระเหรี่ยง เป็นงานประเพณีที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกระเหรี่ยง ซี่งยังคงอาศัยอยู่ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน จัดขึ้นเป็นประจำช่วงขึ้น14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี

ของฝากจากเมืองเพชร
เพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีขนมอร่อยมากมายหลายชนิด ได้แก่ ขนมหม้อแกง ข้าวเกรียบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้กวน กะละแม ฯลฯ มีจำหน่ายทั้งในบริเวณตัวเมืองและที่บริเวณเขาวัง ริมถนนสายเพชรเกษม และยังมีข้าวแช่อาหารที่ขายดีในหน้าร้อน ร้านเก่าแก่อยู่ที่ตลาดทรัพย์สิน เปิดขายระหว่างเวลา 9.00–15.00 น. นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงหลายชนิดเช่น ชมพู่เพชร (มีมากในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม) สับปะรด กระท้อน และแคนตาลูบ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากต้นตาล ได้แก่ ลูกตาล และจาวตาล นำมาทำเป็นอาหาร ขนมหวาน น้ำตาลสด และน้ำตาลปึก และยังมีผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ที่นำมาทำเป็นกระเป๋าและเครื่องใช้สวยงาม ของที่ระลึกเหล่านี้นอกจากจะหาซื้อได้บริเวณตัวเมืองและบริเวณเขาวังแล้ว ยังสามารถหาซื้อได้ที่ ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 1-4 ซึ่งเป็นร้านค้าที่เกิดจากความร่วมมือของจังหวัดเพชรบุรีร่วมกับพัฒนาชุมชน จังหวัด
ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 1 ดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ (อยู่ระหว่างอำเภอท่ายาง-อำเภอชะอำ) จำหน่ายสินค้าประเภทผลไม้แปรรูป ผลไม้อบแห้ง และเครื่องใช้ที่ทำจากป่านศรนารายณ์
ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 2 ไร่ส้ม อำเภอเมือง (ใกล้เขาวัง) จะเป็นสินค้าประเภทขนมหม้อแกง ลูกตาลอ่อน ฝอยทอง สินค้าแปรรูปจากตาลโตนด น้ำตาลสด
ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 3 โพไร่หวาน อำเภอเมือง (ถนนสาย 3177 เส้นทางไปหาดเจ้าสำราญ) จำหน่ายสินค้าแปรรูปจากเห็ดนางฟ้า เช่น น้ำพริกเห็ด เห็ดแดดเดียว ไอศครีมเห็ด
ร้านเพชรบุรีภัณฑ์ 4 เขาย้อย อำเภอเขาย้อย (ติดที่ว่าการอำเภอ) จำหน่ายข้าวแกงรสเด็ด และสินค้าที่ระลึกที่ผลิตจากไม้ตาล ผ้าทอไทยทรงดำ

0 ความคิดเห็น: