02:06

จังหวัดนนทบุรี

" พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา
วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ "

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดนนทบุรี

จังหวัดนนทบุรี ตั้ง อยู่ในภาคกลางเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดปริมณฑล คือนนทบุรีสมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 622 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน ขนาดของจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดในภาคกลางแล้ว มีขนาดเกือบจะเล็กที่สุดยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม บ่งเขตการปกครองออกเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย
เมืองนนทบุรีมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย มีเนื้อที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2092 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมา เพราะเดิมนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่ วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชลอ มาออกหน้าวัดเขมา เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และโปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย ยังมีศาลหลักเมืองปรากฏอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อบ้านตลาดขวัญ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งศาลากลางเมืองขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปี พ.ศ. 2471 รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองฝึกอบรมกระทรวงมหาดไทยตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์ สาย 1 อำเภอเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตามอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง และในปัจจุบันศาลากลางจังหวัดนนทบุรีได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดจังหวัดปุทมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันออก ติดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี
ทิศตะวันตก ติดจังหวัดนครปฐม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 6 (พระนครศรีอยุธยา)
108/22 หมู่ 4 ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทร. (035) 246076-7 โทรสาร (035) 246078
พื้นที่ความรับผิดชอบ : พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี


แผนที่จังหวัดนนทบุรี

แผนที่ตัวเมืองนนทบุรี

ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งแรกของไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 ตั้งอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) แสดงความเป็นมาเกี่ยวกับโลก ชีวิตพืช สัตว์ มนุษย์ ศิลปะวัตถุโบราณ เช่น พระพุทธรูปและเครื่องลายคราม เปิด วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดวันอาทิตย์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ไม่เสียค่าเข้าชม การเดินทาง มีรถโดยสารประจำทางผ่านหลายสาย เช่น 63, 97, 203, ปอ.9, ปอ.126 หรือสอบถามที่ โทร. 184 และ ทางเรือขึ้นที่ท่าน้ำนนทบุรี
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลสวนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองมาทางด้านใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านหน้าของวัดติดริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนด้านหลังติดต่อกับถนนพิบูลสงคราม พื้นที่ทั้งวัด มีประมาณ 26 ไร่เศษ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “วัดเขมา” ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ สมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี ทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่า วัดเขมา ยังไม่มีสร้อยต่อท้ายต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานสร้อยนามต่อท้ายว่า “วัดเขมาภิรตาราม” ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ สูง 30 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์ ภายในบรรจุพระบรม-สารีริกธาตุ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่ ศิลปะสมัยอยุธยาอัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม ภายในวัดมีพระตำหนักแดงและพระที่นั่งมณเฑียรตั้งอยู่ด้วย การเดินทาง สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง สอบถามได้ที่ โทร. 184 หรือรถโดยสารสองแถวสายเรวดี-วัดปากน้ำ หรือทางเรือด่วนเจ้าพระยา โดยลงที่ท่าน้ำนนท์ แล้วต่อรถโดยสารประจำทางสาย 203 หรือโดยสารเรือข้ามฟากจากท่าน้ำบางศรีเมือง ไปฝั่งท่าน้ำนนท์แล้วต่อด้วยรถโดยสารประจำทางสาย 203
โจหลุยส์เธียเตอร์ ตั้งอยู่หลังกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงละครที่เชิดหุ่นละครเล็ก การเชิดหุ่นละครเล็กผู้เชิดจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านการแสดงโขนมาดัวย เนื่องจากในระหว่างที่เชิดหุ่น ผู้เชิดต้องร่ายรำตามไปด้วย และในขณะเดียวกันหุ่นหนึ่งตัวต้องใช้ผู้เชิดถึง 3 คน ทำให้หุ่นเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิต เรื่องราวที่นำมาแสดงเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันมีคณะสาครนาฏศิลป์เพียงคณะเดียวที่ยังสืบสานศิลปะนี้ต่อ
โจ หลุยส์ หรือ ครูสาคร ยังเขียวสด ผู้ชุบชีวิตหุ่นละครเล็กมิให้หายไปตามกาลเวลา ได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2539
วัดสังฆทาน สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดศาริโข สร้างขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระประธานคือหลวงพ่อโตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้างแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและที่อื่น ๆ ยังคงมาสักการะบูชาองค์หลวงพ่อโตมิได้เสื่อมคลาย ชาวบ้านจึงต้องนิมนต์พระจากละแวกใกล้เคียงมาเพื่อถวายสังฆทานจนถูกเรียกขาน กันติดปากว่า “วัดสังฆทาน” วัดนี้มีลักษณะแบบสำนักป่ามีธรรมชาติรอบข้างร่มรื่นเหมาะแก่ผู้ประสงค์จะ เจริญภาวนา มีกุฏิแปลกกว่าที่อื่น คือ เป็นรูปเรือ มีโครงการบวชเนกขัมมะ (สตรีผู้ถือศีล 8)
วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระอัยกา พระอัยกี และ พระราชชนนี มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในเขตพระอารามมีความสงบ ร่มรื่นมาก ส่วนที่เข้าไปชมได้คือบริเวณพระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาผสม)
อุทยานกาญจนาภิเษก ถัดจากวัดเฉลิมพระเกียรติ มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ กรมธนารักษ์เป็นผู้จัดสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเพื่อเป็นที่พักผ่อน ของประชาชน และเป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้น้ำ ไม้ชายน้ำ พืชสวน และสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 6.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าม
วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ เดิมชื่อวัดสามจีน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2350 ซุ้มประตูหน้าต่างที่พระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ บานประตูวิหารเป็นไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางสวยงามมาก การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปวัดสังฆทาน โดยมีป้ายชี้บอกตลอดทาง

วัดปราสาท สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (อยุธยาตอนปลาย) ที่หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักสลักรูป นารายณ์ทรงครุฑ (ปัจจุบันตัวครุฑถูกขโมยไปแล้ว) เครื่องบนเป็นไม้สักประดับด้วยรวยมอญ (ตัวไม้แกะสลักที่ทอดตัวลงมาบนหัวแปตอนหน้าจั่ว เป็นศิลปะมอญ) ตรงหุ่นนก (สามเหลี่ยม ข้างรวยมอญ) เป็นรูปราชสีห์และคชสีห์ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นโบสถ์แบบมหาอุดไม่มีการเจาะฝาผนังเลย ฐานพระอุโบสถเป็นแบบตกท้องช้างหรือท้องสำเภา
ตลาดน้ำวัดแสงสิริธรรม ตั้งอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศน์-ตลาดท่าอิฐ ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด เป็นโครงการส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้ารอบบริเวณวัดและเกาะเกร็ดได้มีโอกาสนำ สินค้ามาแสดงและจำหน่าย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2962 5391ม 0 2584 4778 (ข้อมูลเมื่อ ตค. 44 สำรวจก่อนลงเอกสาร)

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าทราย ริมถนนสายสนามบินน้ำ-นนทบุรี ชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นผู้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2300 จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หลังเก่าเป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติ และประดิษฐานพระประธานสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปยืน 2 องค์ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัด ยังมีพระเจดีย์รามัญ เรียกว่า “พระมุเตา” สร้างโดยพระสงฆ์จากเมืองมอญ เมื่อ พ.ศ.2460 สันนิษฐานว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การเดินทาง รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน ได้แก่ สาย 69 สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 184 หรือรถสองแถวเล็กจากท่าสะพานพระนั่งเกล้า
วัดตำหนักใต้ ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ หมู่ 4 ตำบลท่าทราย เป็นวัดเก่าแก่ตามประวัติกล่าวว่าก่อนที่จะสร้างวัด พื้นที่นี้เคยเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระเจ้ากรุงธนบุรี และจากหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่สันนิษฐานว่าวิหารและหอระฆังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2367 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระประธานเป็นปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
วัดกู้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด ห่างจากอำเภอปากเกร็ดไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ประสบอุบัติเหตุเรือล่มสิ้นพระชนม์ วัดนี้สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นศิลปะแบบมอญ มีพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เพราะเรือล่มแล้วอัญเชิญพระศพมาไว้ที่วัดนี้ชั่วคราว มีศาลพระนางเรือล่ม (พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) ซึ่งจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระราชวังบางปะอิน(พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์)
นอกจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบมอญอยู่ด้านในของโบสถ์หลังเก่า เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวพุทธประวัติ มีพระนอนองค์ใหญ่ซึ่งด้านหลังเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนัน ทากุมารีรัตน์ที่อับปางซึ่งชาวบ้านได้กู้ขึ้นมา การเดินทาง โดยรถยนต์ จากท่าน้ำปากเกร็ดเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดกู้มาตามถนนสุขาประชาสรรค์ ผ่านวัดบางพูดนอก สวนทิพย์ ห้องอาหารศรีไทยเดิม รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นวัดกู้อยู่ด้านซ้ายมือ หรือเช่าเรือจากท่าน้ำปากเกร็ดแล่นมาทางเหนือใช้เวลาประมาณ 10 นาที จะเห็นท่าน้ำวัดกู้อยู่ทางขวามือ
วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตั้ง อยู่ที่ตำบลบางตลาด ริมถนนสายนนทบุรี - ห้าแยกปากเกร็ด ภายในวัดมีความกว้างขวางร่มรื่น เป็นสถานเผยแพร่และศึกษาพระธรรม มีลานไผ่เอนกประสงค์ที่ชาวพุทธโดยทั่วไปจะมารวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา และฟังธรรมจากพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) เจ้าอาวาส ในทุกวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นสวนสาธารณะมีเนื้อที่ประมาณ 102 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหนองปรือ ตำบลบ้านใหม่ มีบึงน้ำขนาดใหญ่รายรอบด้วยหมู่แมกไม้ที่ร่มรื่นและเงียบสงบ มีสวนหย่อม นาฬิกาแดด น้ำพุกลางน้ำเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ในความดูแลของสุขาภิบาล อำเภอปากเกร็ด เปิดทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม การเดินทาง จากท่าน้ำปากเกร็ด ใช้เส้นทางถนนติวานนท์แล้วเลี้ยวขวาตรงสี่แยกบ้านกอนเติงเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร
เกาะเกร็ด เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ
เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกต ได้ว่าวัดวาอารามต่างๆบนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 การคมนาคมบนเกาะจะใช้จักรยานเพื่อให้เหมาะกับขนาดของเกาะ สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่ วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม(โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนที่พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันนี้ ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานนี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง เอกลักษณ์มอญอีกอย่างหนึ่งของที่วัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์ มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี “พระนนทมุนินทร์” เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ(จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.30-16.30 น.
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ที่จะเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จัดแสดงวัตถุต่างๆที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง “เหม” ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ปราณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้
วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าเดิมชื่อ “วัดสวนหมาก” นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งมีฐานเหลี่ยม ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต”
วัดฉิมพลี มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา
วัดไผ่ล้อม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้”
กวานอาม่าน เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ เปิดให้ชมทุกวัน การปั้น เครื่องปั้นดินเผานั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรม พื้นบ้าน ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงาม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และถูกนำไปเป็นตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ ในชีวิตประจำ เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ สามารถเข้าไปชมได้
คลองขนมหวาน บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ขายส่งและยังสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย
การเดินทาง ลงเรือข้ามฟากได้สองท่า คือ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ไม่ไกลจากท่าน้ำปากเกร็ด) หรือท่าเรือวัดกลางเกร็ด มีเรือบริการระหว่าง 05.00-21.30 น.

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.บางกรวย : อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

อำเภอบางกรวย
วัดโพธิ์บางโอ ต้องเดินเข้าไปประมาณ 200 เมตร จากท่าเรือ มีภาพจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรี ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมไป แต่กรมศิลปากรกำลังบูรณะอยู่ เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรส ในกรมพระราชวังหลัง โบสถ์มีลักษณะคล้ายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสาย่อมุมไม้สิบสองและเอนเข้าหากัน เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของตัวอาคาร หน้าบันเป็นเครื่องไม้จำหลักมีลวดลายจีนแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ใบเสมาเป็นหินทรายมีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย
ตลาดน้ำบางคูเวียง ตั้งอยู่ปากคลองบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง ตลาดจะมีช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 - 08.00 น. ชาวบ้านจะนำผลไม้ตามฤดูกาลบรรทุกเรือมาค้าขายกันที่นี่ นอกจากนี้ยังมีอาหารและสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทุกเช้าพระภิกษุจากวัดบริเวณใกล้เคียงจะออกบิณฑบาตโดยใช้เรือลำเล็ก ๆ เป็นพาหนะ นับเป็นภาพชีวิตแบบไทยที่นับวันจะหาดูได้ยาก

อำเภอบางใหญ่
วัดสวนแก้ว เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมโดยพระพิศาลธรรมพาที(พระพยอม กัลยาโณ) เป็นพระนักพัฒนา ท่านได้ริเริ่มโครงการต่างๆของมูลนิธิสวนแก้วเพื่อพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมจนประสบความสำเร็จ เช่น โครงการร่มโพธิ์แก้ว โครงการที่พักคนชรา โครงการซุปเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ โครงการสวนแก้วเนอร์สเซอรี่ เป็นต้น
การเดินทาง จากสะพานพระนั่งเกล้า ตรงไปสี่แยกไฟแดงที่ 2 เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวย ประมาณ 2 กิโลเมตรจะถึงวัด หรือนั่งรถประจำทางสาย 63 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
วัดอัมพวัน สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดบางม่วง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ หอไตรกลางน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ตัวหอมีขนาด 2 ห้อง ช่วงล่างเป็นลูกฟักกระดานดุน ตอนบนเป็นซี่ลูกกรงไม้ กลึงเสา กรอบประตูเป็นเสาหัวเม็ด ประตูหูช้าง เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลัก หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีปีกนก 1 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาใต้เชิงชาย และหน้าบันประดับไม้สลักลายรดน้ำ
หน้าบานประตูทางเข้าหอไตรเป็นบานไม้ลงรัก ปิดทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ อกเลาเป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตาน ลูกฟัก เหนือประตูเป็นภาพนกข้างละตัว เหนือขึ้นไปเป็น ภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในห้องสะกัดท้ายหอไตรเป็นที่เก็บ พาน ตะลุ่ม และ ฐานพระพุทธรูปไม้จำหลักเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลงานประเพณี จังหวัดนนทบุร

• งานสงกรานต์ของชาวมอญ อำเภอปากเกร็ด ที่เกาะเกร็ด จัดหลังจากวันที่ 13 เมษายน ไป 1 สัปดาห์ มีขบวนแห่และการละเล่นต่าง ๆ แบบมอญ
• งานเทศกาลผลไม้และของดีเมืองนนท์ กำหนดจัดงานช่วงกลางเดือนเมษายน - ต้นมิถุนายนของทุกปี ที่บริเวณริมเขื่อนหน้าศาลากลางเก่า อำเภอเมือง มีการจำหน่ายผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับของนนทบุรี เช่น ทุเรียน มังคุด กระท้อน มะไฟ มะม่วง ฯลฯ
• ประเพณีการทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้วในอำเภอบางกรวย โดยจัดขึ้นตามลำน้ำในคลองบางกอกน้อย ซึ่งได้จัดขึ้นหลายวัดด้วยกันคือ วัดไทยเจริญ วัดบางไกรนอก วัดอุทยาน และวัดบางไกรใน ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 ประจำทุกปี
• ประเพณีรำมอญ เป็นนาฎศิลป์ที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของมอญ และยังคงเหลืออยู่สืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ลูกหลานมอญรุ่นหลังๆ ยังคงได้รับการถ่ายทอดศิลปะนี้ไว้ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปากเกร็ด พระประแดง และที่ปทุมธานี ยังมีผู้ที่รำมอญได้จำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งวงปี่พาทย์มอญที่บรรเลงประกอบการรำก็ยังคงมีอยู่หลายวงเช่นกัน



หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ (รหัสทางไกล 02)

ททท.สำนักงานเขต 6 จ.พระนครศรีอยุธยา

035-246-076-7

สำนักงานจังหวัด

580-0705-6

ศูนย์แนะนำข่าวสารและประชาสัมพันธ์

580-0721-2

สำนักงานเกษตรจังหวัด

589-2134 , 585-2637 , 585-8275

สถานีขนส่ง

589-1560 , 521-2056 , 589-5656

รพ.พระนั่งเกล้า

526-5589

รพ.บางบัวทอง

571-7899 , 571-7900

รพ.ปากเกร็ด

583-8327 , 583-2238

รพ.บางใหญ่

595-1637-8

รพ.บางกรวย

435-6022 , 435-6023

0 ความคิดเห็น: