02:07

จังหวัดปทุมธานี

ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ
พระตำหนักรวม สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดปทุมธาีนี

จังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 300 ปี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อพุทธศักราช 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก จากนั้นมาชุมชนสามโคกได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ต่อมาแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่สามโคก และครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า " มอญใหญ่" พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจากชุมชนที่ขนาดเล็ก "บ้านสามโคก" จึงกลายเป็น "เมืองสามโคก" ในกาลต่อมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ดูแล ทำนุบำรุงชาวมอญเมืองสามโคกไม่ได้ขาด ครั้งเมื่อเดือน 11 พุทธศักราช 2358 ได้เสด็จประพาสที่เมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเยื้องเมืองสามโคก ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ชาวมอญเป็นล้นพ้น จึงได้พากันหลั่งไหลนำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯถวายราชสักการะอยู่เป็นเนืองนิจ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง จึงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า "เมืองประทุมธานี" ซึ่งวันนั้นตรงกับวันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2538 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ชื่อเมืองประทุมธานีจึงได้กำเนิดนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในปีพุทธศักราช 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทน"เมือง" และให้เปลี่ยนการเขียนชื่อจังหวัดใหม่จาก "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ยุบจังหวัด ธัญบุรีขึ้นกับจังหวัดปทุมธานีเมื่อ พุทธศักราช 2475

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนาม เมืองปทุมธานีเป็นต้นมา จังหวัดปทุมธานีก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์มีศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์อื่นๆเป็นของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวปทุมธานีภาคภูมิใจเป็น อย่างยิ่ง และเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ตัวเมืองปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือประมาณ 46 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,565 ตารางกิโลเมตร เเบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี สามโคก ลาดหลุมเเก้ว ธัญบุรี หนองเสือ คลองหลวง และลำลูกกา

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครนายก และจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดนนทบุรี

แผนที่จังหวัดปทุมธานี

แผนที่ตัวเมืองปทุมธานี

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

ที่ว่าการอำเภอเมืองปทุมธานี โทร. 0 2581 6130
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 2581 2121
โรงพยาบาลปทุมธานี โทร. 0 2598 8888
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง โทร. 0 2581 6117 , 0 2581 6789

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.เมือง : อ.สามโคก จังหวัดปทุมธาีนี

อำเภอเมือง
ศาลหลักเมือง เป็น ที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 เป็นศาลาแบบจตุรมุขด้านหน้าเป็นมณฑปประดิษฐานเสาหลักเมือง ลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมา จากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี
ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า) ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรือนไทยโบราณปั้นหยาขนาดใหญ่ชั้นเดียว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตกแต่งลวดลายที่สวยงาม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ
วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี มีเสาหงส์สร้างขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดีสิ่งสำคัญในวัดโบสถ์ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ ของเก่าแก่จากรามัญ ช้างสี่เศียรใช้ติดตั้งประดับหัวเสา อายุเก่าแก่ถึง 150 ปีสร้างด้วยทองคำสัมฤทธิ์ พระทรงเครื่องอยู่ในโบสถ์เก่าของวัด และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6 การเดินทางจากศาลากลางจังหวัดไปที่อำเภอสามโคก เมื่อถึงสี่แยก เลี้ยวขวาขึ้นสะพานปทุมธานีพอลงจากสะพานจะมีป้ายทางเข้าวัดโบสถ์อยู่ทางขวามือ
วัดชินวราราม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดมะขามใต้” บริเวณพระอารามกว้างขวาง ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าสิบชาติ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถนนแจ้งวัฒนะถึงห้าแยกปากเกร็ดเลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 306 จนถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานนวลฉวีหรือสะพานนนทบุรี เมื่อลงจากสะพานทางขวามือจะมีป้ายทางเข้าวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดบางนางบุญ
วัดหงส์ปทุมาวาส ตั้ง อยู่ที่ตำบลบางปรอก เป็นวัดที่สร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยขนานนามว่า “วัดหงสา” ตามชื่อเมืองหงสาวดี และสร้างเสาหงส์ไว้เป็นสัญลักษณ์ ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดคือพระพุทธชินราชจำลองปางมารวิชัย เจดีย์มอญ รูปหล่อหลวงปู่เฒ่าที่ชาวบ้านนับถือ วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัดมีพันธุ์ปลา ต่างๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ว่ายมาชุมนุมกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด

อำเภอสามโคก
วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อกันว่าสร้างเมื่อครั้งที่ชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้ ในบริเวณวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การศึกษาในด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ มีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางสะดุ้งมาร สมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ บนกุฎิของวัดยังมีโบราณวัตถุที่เก็บรวมรวมไว้ เช่น แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และอิฐมอญแบบเก่า การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน การเดินทางใช้ถนนสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดอยู่ขวามือ ผ่านอู่ต่อเรือ และวัดตำหนัก
วัดไผ่ล้อม เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ เนื่องจากบริเวณวัดนั้นมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นที่อาศัยของ “นกปากห่าง” จำนวน
มาก นกปากห่างเป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกกระสา มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม นกชนิดนี้จะเริ่มอพยพมาอาศัยอยู่ที่วัดไผ่ล้อมในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึง เดือนมิถุนายนของทุกปี อาหารที่นกปากห่างชอบคือหอยโข่ง กุ้งและปลา ปัจจุบัน "นกปากห่าง" เป็นสัตว์ป่าสงวนในความดูแลของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ การเดินทางไปวัดไผ่ล้อมสามารถโดยสารรถประจำทาง ขส.มก. สาย 32 และ ปอ.6 จากสนามหลวง หรือสาย 104 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปท่าเรือเทศบาลเมืองปทุมธานีแล้วข้ามเรือไปยังวัด ไผ่ล้อมอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ยังมีบริการเรือนำเที่ยว กรุงเทพฯ-วัดไผ่ล้อม-ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ไป-กลับ ทุกวันอาทิตย์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.623-6001-3 หากขับรถไปเองให้ใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก ตรงไปถึงวัดสามัคคิยารามเลี้ยวขวาเลียบวัดไปจนถึงท่าน้ำ จะมีแพขนานยนต์ข้ามฟากให้บริการ หากไม่ต้องการนำรถข้ามฟาก ก็จอดรถไว้แล้วนั่งเรือรับจ้างข้ามไปวัดไผ่ล้อมได้ ในบริเวณวัดไผ่ล้อมมีร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มและของที่ระลึกสำหรับนัก ท่องเที่ยวในวันเสาร์และอาทิตย์
วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างมาประมาณ 160 ปี เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ การเดินทางนั้นใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก ประมาณ 8 กิโลเมตรและแยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ 500 เมตร
วัดจันทน์กะพ้อ ตั้งอยู่ตำบลบางเตย ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 6 กิโลเมตร สร้างโดยชาวมอญ ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยให้ชื่อว่า “วัดโก๊วะ” ซึ่งแปลว่า “จันทน์กะพ้อ” ซึ่งชาวมอญ ถือว่าเป็นไม้มงคลเหมือนต้นราชพฤกษ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2495 พระราชสุทธิ
โสภณ ขอเปลี่ยนนามวัดใหม่ เป็นวัดจันทน์กะพ้อ ภายในวัดมีหอวัฒนธรรม ซึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุมอญ และยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่น โครงการผู้สูงอายุอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่ประกอบพิธีสำคัญของชาวปทุมธานีเช่น พิธี “ออกฮ้อยปะจุ๊” แข่งธงตะขาบ เป็นต้น
วัดบางนา ตั้งอยู่ต.บางโพธิเหนือ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2310 โดยมีครอบครัวคนไทยอพยพหนีภัยสงครามมาจากกรุงศรีอยุธยา และได้จัดสร้างวัดนี้ขึ้นซึ่งแต่เดิมอยู่ในคลอง ไม่สะดวกต่อการคมนาคม จึงได้ย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณวัดมีพระป่าเลไลย์ เจดีย์ย่อมุมสิบสอง 2 องค์ เสาหงส์ และรูปหงส์กุฏิตึกโบราณ 3 หลัง นอกจากนี้ยังขุดค้นพบกระเบื้องดินเผาตัวผู้ ตัวเมีย หลังคาโบสถ์อายุกว่า 100 ปี และยังมีหินศักดิ์สิทธิ์สำหรับเสี่ยงทาย สรีระของหลวงปู่เส็งที่ไม่เน่าไม่เปื่อยอยู่ในโรงแก้ว เกจิอาจารย์ชื่อดังผู้สร้างวัตถุมงคลหมูและพญาครุฑ ที่พ่อค้าแม่ค้ารู้จักกันเป็นอย่างดี
วัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเชียงรากน้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ธรรมาสน์ลายจำหลักไม้ ศาลาการเปรียญ หมู่กุฎิ หอไตร และเครื่องกรองน้ำสมัยโบราณที่หาชมได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์มอญขนาดเล็กที่น่าศึกษา ที่วัดนี้มีการสวดมนต์ด้วยภาษามอญทุกวัน เวลาประมาณ 15.00 น. บริเวณวัดนี้มีการรักษาความสะอาดของหมู่บ้านได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นหมู่บ้านที่ชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2541 และยังมีการปลูกบ้านเรือนไทยผสมผสานแบบมอญที่หาชมได้ยากยิ่ง
วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในวัดนี้มีพระเจดีย์มอญย่างกุ้ง 3 องค์ วัดสองพี่น้องสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2410 และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์คือ หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศิลา ศิลปะอู่ทองปางมารวิชัย และหลวงพ่อพลอย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองจำหลักด้วยศิลา แต่ถูกขโมยไป ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือและประชาชนทั่วไป


ข้อมูลท่องเที่ยว อ.ลำลูกกา : อ.ลาดหลุมแก้ว : อ.ธัญบุรี จังหวัดปทุมธาีนี

อำเภอลำลูกกา
วัดพืชอุดม ตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร ในบริเวณวัดมีศาลารูปปั้นต่างๆ แสดงถึงนรกภูมิและสวรรค์ภูมิชั้นต่างๆ มีหลวงพ่อโสธรจำลองประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ การเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ทางรถยนต์มีรถสองแถวรับจ้างวิ่งเข้าออกทั้งวันโดยใช้เส้นทางสายกรุงเทพฯ -มีนบุรี-หนองจอก-วัดพืชอุดมและทางเรือโดยลงเรือที่สะพานใหม่ดอนเมือง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที
ตลาดน้ำคูคต ตั้งอยู่บริเวณชายคลองหนึ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลคูคต บนพื้นที่กว่า 200 ตารางวา ในบริเวณเดียวกันยังจัดให้มีสวนหย่อม ลักษณะคล้ายตลาดน้ำดำเนินสะดวก จะมีพ่อค้า แม่ค้านำของพื้นเมืองในท้องถิ่นพืชผักผลไม้ สิ่งประดิษฐ์1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์มาวางจำหน่ายบนเรือและริมตลิ่ง คาดว่าจะเปิดได้ในปี 2545

อำเภอลาดหลุมแก้ว
วัดบัวขวัญ เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอลาดหลุมแก้ว ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปทองสำริด ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งจำลองมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีและพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า "ศาลาแดง" เดิมตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ นับเป็นพลับพลาที่สวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง การเดินทางใช้เส้นทางสาย 341 ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี เส้นทางเดียวกับวัดเจดีย์หอย เลี้ยวซ้ายที่หลักกิโลเมตรที่ 21-22 ที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร

วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 346 (ปทุมธานี-บางเลน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร วัดนี้เมื่อพ.ศ. 2523 มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมามีการขุดพบซากหอยนางรมยักษ์ที่อยู่ในเขตวัด มีอายุกว่า 1,000 ปี จำนวนมาก หลวงพ่อทองกลึงจึงคิดนำซากหอยโบราณมาก่อเป็นเจดีย์ขึ้น จึงเรียกว่า เจดีย์หอย
โรงเรียนมวยไทย เป็นศูนย์รวมของศิลปะแม่ไม้และลูกไม้มวยไทย มีหลักสูตรการสอนมวยไทยขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นอาชีพ หลักสูตรผู้ฝึกสอนมวยไทย หลักสูตรผู้ตัดสินมวยไทย สำหรับนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป เปิดสอนทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 992-0096-9 โทรสาร 992-0095

อำเภอธัญบุรี
วัดมูลจินดาราม ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า อำเภอธัญบุรี ห่างจากถนนพหลโยธิน ไปตามเส้นทางถนนปทุมธานี-นครนายก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ปลาสวายซึ่งได้เลี้ยงไว้ที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์จำนวนมาก แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวและให้อาหารปลาอยู่เสมอ
สวนสนุกดรีมเวิลด์ ตั้ง อยู่ที่กิโลเมตรที่ 7 เส้นทางสายรังสิต-นครนายก บริเวณคลองสาม มีเนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ เป็นสวนสนุกและสถานที่พักผ่อนที่รวบรวมความบันเทิงนานาชนิดเข้าไว้ด้วยกัน

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธาีนี
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหก บริเวณเทคโนโลยีธานี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10,000 ตารางเมตร สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ อาคารออกแบบเป็นรูปลูกเต๋า ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงนิทรรศการต่างๆทางวิทยาศาสตร์ ชั้นแรก จัดแสดงภาพ และผลงานนักวิทยาศาสตร์ การจำลองลูกโลกขนาดใหญ่ ชั้นที่ 2 จัดแสดงหุ่นจำลอง ลูซี่ ที่ทำจากฟอสซิล เป็นรูปเหมือนที่แสดงถึงการกำเนิดมนุษย์คนแรก ยานอวกาศ และมนุษย์อวกาศจำลอง ชั้นที่ 3 เป็นอุโมงค์เงา และเรือนไม้ จัดแสดงในเรื่องของแสง ชั้นที่ 4 จัดแสดงพื้นฐาน และเทคโนโลยีในประเทศไทยลักษณะทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา การผลิตด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ชั้นที่ 5 คือแสดงการแยกแยะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และ ชั้นที่ 6 แสดงถึงภูมิปัญญาไทย อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 40 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท การเดินทางไปสามารถโดยสารรถประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.1155 จากตลาดรังสิตโดยขึ้นรถสายรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค-พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 577-4172-8
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง ตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ประกอบด้วย กลุ่มอาคารที่เป็นพิพิธภัณฑ์จำนวน 9 อาคาร มีอาคารหลักเชื่อมโยงต่อกับอาคารบริวาร จัดแสดงกิจกรรมที่ควบคุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน พื้นที่กลางแจ้งจำลองสภาพทางการเกษตร สภาพป่า ชุมชนเกษตรกร สวนไม้ดอก พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯลฯ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้วิทยาการรวมถึงการจัดแสดงเรื่องราวประกอบแสง เสียง ภาพในแนวความคิดที่ต้องการให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ได้รับความรู้ด้านการเกษตร ด้วยความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติที่มีชีวิต สามารถสัมผัสได้โดยมีความสนุกสนานเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกษตร และยังเป็นแหล่งการศึกษาทางด้านโครงการพระราชดำริ การเกษตร การประมง การปศุสัตว์ ป่าไม้ ป่าชายเลนและการพัฒนาที่ดิน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเวลา 09.30–15.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2529 2212-4
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า เป็นหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการรวบรวมเก็บรักษา จัดแสดง ให้บริการข้อมูล และอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมวงศ์ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยแห่งการครองราชย์ของพระองค์ โดยดำเนินการจัดเก็บและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบตามมาตรฐานจดหมายเหตุสากล
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และเกิดความซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน


ข้อมูลเทศกาลและงานประเพณี จังหวัดปทุมธาีนี
เปิงสงกรานต์ เป็น ประเพณีสงกรานต์ ของชาวไทยรามัญ (มอญ) มีการทำข้าวแช่โดยนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิ พร้อมกับจัดอาหารคาว หวาน จัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวัน สงกรานต์ พอตอนบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไปสรงน้ำพระ ขอพรจากพระและยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือกระทำกันมา
การเล่นสะบ้า เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวมอญจัดขึ้นในวันสงกรานต์ตอนบ่ายๆ หนุ่มสาวชาวบ้านพบปะสมาคมกันอย่างใกล้ชิด พวกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดโอกาส
ให้ลูกหลานของตนแต่งกายให้สวยงามเป็นพิเศษ มาชุมนุมเล่นทอยลูกสะบ้ากัน สำหรับลูกสะบ้านั้นทำจากแก่นไม้ประดู่หรือไม้มะค่า มีลักษณะเป็นรูปจานทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว การทอยลูกสะบ้า ผู้เล่นจะทอยไปยังหลักซึ่งอยู่ห่างจากที่ทอยประมาณ 13 วา ให้ล้มลง
มอญรำ เป็นประเพณีของชาวรามัญโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ปี่พาทย์มอญเล่นประกอบการรำและการร้อง ใช้หญิงสาวจำนวน 8-12 คนขึ้นไปรำในงานพิธีมงคล โดยจะแต่งกายชุดของชาวมอญห่มสไบเฉียงเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม เกล้าผมมวยรัดด้วยดอกมะลิ ทัดดอกไม้สดข้างหูและสวมกำไลที่ข้อเท้า เว้นแต่พิธีศพจึงจะแต่งชุดซิ่นสีดำเชิงห่มสไบสีขาว ปัจจุบันการแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขกและงานศพของผู้มีเกียรติ
ทะแยมอญ เป็นการละเล่นพื้นเมืองของหนุ่มสาวชาวมอญ มีลักษณะคล้ายหมอลำของภาคอีสาน หรือลำตัดของคนไทยภาคกลาง มีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีต่อปากต่อคำกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเล่นก็มีไวโอลินและซอ ทะแยมอญใช้เล่นได้ทั่วไปในทุกโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครึกครื้น ไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิธี เช่น มอญรำ
การรำพาข้าวสาร เป็นประเพณีของชาวมอญ นิยมทำกันหลังจากการออกพรรษา เป็นช่วงการทอดกฐินและทอดผ้าป่า โดยคณะผู้รำพาข้าวสารจะพายเรือไปขอรับบริจาคข้าวสาร เงินทองและสิ่งของแล้วนำไปร่วมในการทอดกฐิน

การตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีของชาวมอญที่ทำในเทศกาลออกพรรษา ด้วยการนำอาหารคาว-หวาน ลงเรือมาจอดเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอตักบาตร
การจุดลูกหนู เป็นประเพณีเผาศพพระภิกษุ-สามเณรใช้ดอกไม้เพลิงเป็นฉนวน ร้อยด้วยเชือกฉนวน เมื่อจุดไฟ ไฟจะวิ่งตามฉนวนไปยังดอกไม้เพลิง ดอกไม้เพลิงจะวิ่งไปจุดไฟที่เมรุ



0 ความคิดเห็น: