สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 245 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ยาวนานตั้งแต่ สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ และอาณาจักรทวาราวดี โดยจะเห็นได้จาก กลุ่มปราสาท โบราณ ที่มีมากมายอยู่ทั่ว จังหวัดและโบราณวัตถุ ที่หลงเหลือ บอกเล่าเรื่องราว ประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองของแผ่นดินในอดีต ให้แก่คนรุ่นหลัง
นอกจากแหล่งโบราณสถานที่น่าศึกษาทางประวัติศาสตร์ จังหวัดสระแก้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา นอกจากนี้ยังมีแท่งดินประติมากรรมทางธรรมชาติอย่าง "ละลุ" ที่มีรูปลักษณะแปลกตา
สุดชายแดน อรัญประเทศ สระแก้ว เป็นประตูบานใหญ่ ที่เปิดไปสู่ ประเทศกัมพูชา เชื่อมการคมนาคม และการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศ ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน มีตลาดโรงเกลือ ที่เต็มไปด้วยของราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อนบ้าน
สระแก้วเป็นจังหวัดที่74 ของประเทศไทย เดิมมีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) และในปี พ.ศ.2476 เมื่อมีการยกเลิกระบบเทศาภิบาล ปราจีนบุรี ได้รับการยกฐานะ ให้เป็นจังหวัด สระแก้ว จึงกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัวออกมาจาก ปราจีนบุรี และได้รับการประกาศ ให้เป็นจังหวัด อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536
ประวัติความเป็นมา
จังหวัดสระแก้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่ - ยุคโลหะ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ในยุคต่อมา ก็มีการค้นพบโบราณวัตถุอีก เช่น ที่อำเภออรัญประเทศ และอำเภอตาพระยา แสดงหลักฐานว่า สระแก้ว เคยเป็นชุมชนสำคัญ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง ในยุคเจนละ- ทวารวดี มีอารยธรรม และวัฒนธรรม เป็นของตนเอง มีกษัตริย์ หรือผู้ครองเมือง ที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และไวษณพนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถาน และจารึกรูปอักษรปัลลวะ ต่างๆ ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย เขารัง และช่องสระแจง เป็นต้น โดยเฉพาะจารึก รูปอักษรปัลลวะ ที่ปรากฏ ในบริเวณปราสาทเขาน้อย เขตอรัญประเทศ ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักฐานบันทึก ศักราช ที่เก่าแก่ที่สุด ในกลุ่มจารึกรุ่นแรก ที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180
นอกจากนี้ ยังค้นพบหลักฐาน ความเจริญของอารยธรรม ระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 15-16 ในแถบนี้อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณ ที่ยังเหลือร่องรอย ปรากฏในปัจจุบัน เช่น จารึกพบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมอีก 2 หลัก ซึ่งในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นเทวสถาน ของพระศิวะ ดังข้อความใน จารึก สด๊กก๊อกธม หลักที่ 1 ได้กล่าวถึงว่า ในปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึก มาปักไว้ที่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม เพื่อประกาศ ห้ามเรียก ข้าของเทวสถานแห่งนี้ ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถาน ได้บำรุงรักษา และบูชาพระศิวลึงค์ หรือรูปเคารพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานสด๊กก๊อกธม นี้ตลอดไป ส่วนจารึก อีกหลักหนึ่ง ก็ได้กล่าวสรรเสริญ พระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะ โบราณสถาน แห่งนี้ จนสำเร็จพร้อมจารึก ที่เกี่ยวกับอารยธรรม และศาสนา เป็นต้น จากจารึก และโบราณสถาน ที่พบนี้ สามารถบ่งบอก ให้เราทราบถึงระบบการปกครอง ของ อาณาจักร ขอมโบราณ บนผืนแผ่นดิน สระแก้ว แห่งนี้ เปรียบเสมือน มรดก ทางภูมิปัญญา ของบรรพชน ที่มีคุณค่า เป็นคุณประโยชน์ต่อการศึกษายิ่ง
อาณาเขต การปกครอง
จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด อำเภอโคกสูง และอำเภอวังสมบูรณ์
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
การเดินทาง
ทางรถยนต์
การเดินทางไปจังหวัดสระแก้วสามารถใช้เส้นทางได้ 4 เส้นทาง ได้แก่
1. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายพหลโยธินมาถึงรังสิต แล้วให้ชิดซ้ายโดยใช้สะพานวงแหวนข้ามมาลงที่เส้นทางหมายเลข 305 ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จากนั้นเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 214 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วเลี้ยวขวาที่แยกหินกองไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านจังหวัดนครนายก อำเภอกบินทร์บุรี ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร
3. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นให้ใช้เส้นทางไปอำเภอพนมสารคาม พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 35 ให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอกบินทร์บุรี โดยใช้เส้นทางหมายเลข 304 พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 95 ให้เลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 33 ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 210 กิโลเมตร
4.จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นให้ใช้เส้นทางไปอำเภอพนมสารคาม ผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ประมาณกิโลเมตรที่ 54 จะมีทางแยกขวาไปจังหวัดสระแก้วโดยไปตามทางหลวงหมายเลข 359 อีกประมาณ 65 กิโลเมตรถึงจังหวัดสระแก้ว จัดเป็นเส้นทางที่ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางไปจังหวัดสระแก้วในขณะนี้ หรือใช้ทางพิเศษฉลองรัช, ทางพิเศษบูรพาวิถี, ทางพิเศษอุดรรัถยา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1543
ทางรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการขบวนรถโดยสารสายกรุงเทพฯ –สระแก้ว-อรัญประเทศ วันละ 2 ขบวน ขบวนแรกออกจากกรุงเทพฯ เวลา 05.55 น. ถึงสระแก้ว เวลา 10.32 น. ถึงอรัญประเทศ เวลา 11.30 น. และขบวนที่สอง ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 13.05 น. ถึงสระแก้ว เวลา 17.25 น. ถึงอรัญประเทศ เวลา 18.20 น. และเที่ยวกลับวันละ 2 ขบวน ขบวนแรกออกจากอรัญประเทศ เวลา 06.35 น. ถึงสระแก้ว เวลา 07.26 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.30 น. ขบวนที่สองออกจากอรัญประเทศ เวลา 13.35 น. ถึงสระแก้ว เวลา 14.37 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.30 น. ค่าโดยสารคนละ 48 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือเว็บไซต์ www.railway.co.th หรือสถานีรถไฟจังหวัดสระแก้ว โทร. 0 3726 1217
ทางรถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต และสถานีขนส่งเอกมัยทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง (ถ้าวิ่งเส้นองครักษ์ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง) ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936 2852-66 หรือเว็บไซต์ www.trasport.co.th หรือ บริษัท ขนส่ง จำกัด (จังหวัดสระแก้ว) ถนนเทศบาล 9/1 โทร. 0 3724 1282 แอร์ขวัญ โทร. 0 3742 1210, 0 1751 1718
การเดินทางจากสระแก้วไปยังจังหวัดใกล้เคียง
นครราชสีมา 184 กิโลเมตร
ปราจีนบุรี 188 กิโลเมตร
จันทบุรี 258 กิโลเมตร
ฉะเชิงเทรา 286 กิโลเมตร
การเดินทางจากอำเภอเมืองสระแก้วไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอเมือง - กิโลเมตรอำเภอเขาฉกรรจ์ 19 กิโลเมตร
อำเภอวัฒนานคร 38 กิโลเมตร
อำเภอวังน้ำเย็น 50 กิโลเมตร
อำเภออรัญประเทศ 54 กิโลเมตร
อำเภอวังสมบูรณ์ 55 กิโลเมตร
อำเภอคลองหาด 65 กิโลเมตร
อำเภอโคกสูง 72 กิโลเมตร
อำเภอตาพระยา 100 กิโลเมตร
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว โทร. 0 3742 5127สำนักงานจังหวัดสระแก้ว โทร. 0 3742 5125
ที่ว่าการอำเภออรัญประเทศ โทร. 0 3723 1016
ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ โทร. 0 3723 1131
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระแก้ว โทร. 0 3742 5066-7
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง โทร. 0 3724 2362
สถานีตำรวจภูธร อ.ตาพระยา โทร. 0 3726 9111
สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง โทร. 0 3724 1017
สถานีตำรวจภูธร อ.วัฒนานคร โทร. 0 3726 1507-8
สถานีตำรวจภูธร อ.วังน้ำเย็น โทร. 0 3725 1111
สถานีตำรวจภูธร อ.อรัญประเทศ โทร. 0 3723 1203
โรงพยาบาลวัฒนานคร โทร. 0 3726 1772-5
โรงพยาบาลอรัญประเทศ โทร. 0 3723 3075-9
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว โทร. 0 3724 2532, 0 3724 1011-2, โทร. 0 3724 3018-20
โรงพยาบาลตาพระยา โทร. 0 3726 9009, 0 3751 0252
โรงพยาบาลวังน้ำเย็น โทร. 0 3725 1108-9
โรงพยาบาลคลองหาด โทร. 0 3751 2258-61
โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ โทร. 0 3751 1272
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น